ประวัติ พระพุทธมหาจักรพรรดิ วัดนางนองวรวิหาร กรุงเทพฯ |
![]() |
![]() |
![]() |
ประวัติ พระพุทธมหาจักรพรรดิ วัดนางนองวรวิหาร กรุงเทพฯ
วัดแห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานของการสร้าง แต่สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ประมาณสมัยสมเด็จพระศรีสรรเพ็ชญ์ที่ 8 (ขุนหลวงสรศักดิ์) ราวปีพ.ศ. 2245-2252 ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพ.ศ. 2375 ได้บูรณปฏิสังขรณ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้ทำเป็นงานใหญ่ รื้อของเก่า และปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม ดังปรากฏงานศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในพระองค์ที่พระอุโบสถและพระวิหารคู่ การทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดนางนองนั้น สืบเนื่องจาก วัดนางนองในแขวงบางนางนอง เดิม เป็นนิวาสสถานของสมเด็จพระศรีสุลาลัยพระนามเดิมคือ เจ้าจอมมารดาเรียม พระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดนางนอง จึงมีศิลปะแบบพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ศิลปกรรมที่เลียนแบบศิลปะจีนได้ปรากฏในงานสถาปัตยกรรมเป็นหลัก จากรูปแบบการวางแผนผังพระอารามในรัชสมัยและงานสถาปัตยกรรมไทยที่สร้างสรรค์ผสมผสานศิลปะจีน การบูรณปฏิสังขรณ์ใช้เวลาหลายปีจึงแล้วเสร็จ ได้สถาปนาเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาพระอุโบสถเมื่อพุทธศักราช 2384 ทั้งนี้ พระพุทธรูปประธานประดิษฐานประจำพระอุโบสถวัดนางนองวรวิหาร มีพระ นามว่า "พระพุทธมหาจักรพรรดิ" พระพุทธมหาจักรพรรดิ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางมารวิชัย พระพักตร์พุทธศิลป์สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 2 เมตร 25 เซนติ เมตร หรือประมาณ 4 ศอกครึ่ง เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องที่ทำเครื่องทรงเครื่องประดับตกแต่งทุกชิ้น แยกออกจากองค์พระสวมทับลงไว้ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ปั้นลายปิดทองประดับกระจก กล่าวได้ว่า พระพุทธมหาจักรพรรดิ ถือเป็นงานประติมากรรมชิ้นเอก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีความงามอย่างวิจิตรอลังการ ให้ความเลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้เข้ามาสักการะมีความอิ่มเอิบยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างสงบเยือกเย็น มีเรื่องเล่าขานถึงมงกุฎทรงของพระพุทธมหาจักรพรรดิ เฉพาะเครื่องศิราภรณ์ คือ มงกุฎของพระพุทธมหาจักรพรรดิ มีประวัติว่า องค์ที่สวมอยู่นี้ เป็นองค์ที่ 2 องค์แรกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนยอดนภศูลพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เมื่อครั้งทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดให้สูงขึ้นจากเดิม ทั้งนี้ พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เป็นสัญลักษณ์ชาติไทยสิ่งหนึ่งที่ชาวโลกรู้จัก สร้างขึ้นด้วยพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โดยมีพระราชดำริเห็นว่าพระปรางค์เดิมสูง 8 วานั้น ยังย่อมอยู่ กรุงรัตนโกสินทร์ได้ตั้งขึ้นเป็นราช ธานี ยังไม่มีพระมหาธาตุ ควรเสริมสร้างให้ใหญ่เป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนคร จึงทรงโปรดฯให้ลงมือขุดราก แต่การได้ค้างอยู่เพียงนั้นก็สิ้นรัชกาล พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้ทรงโปรดฯให้ปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชวราราม ต่อมา มีพระราชดำริออกแบบพระปรางค์เสริมให้สูงขึ้น เสด็จพระราชดำเนินไปก่อพระฤกษ์ในปีที่ทรงผูกพัทธสีมาวัดนางนอง คือ พ.ศ.2385 ครั้นพระปรางค์สำเร็จเป็นพระมหาเจดีย์ โปรดยกยอดพระปรางค์ซึ่งเดิมเป็นยอดนภศูลตามพระปรางค์แบบโบราณได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อยอดนภศูลพระปรางค์เมื่อเดือน 12 พ.ศ.2390 มีหมายรับสั่งกำหนดวันยกยอดพระปรางค์ในเดือนอ้ายปีเดียวกัน ครั้นใกล้วันพระฤกษ์ ทรงโปรดฯให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานในวัดนางนองมาสวมต่อบนยอดนภศูล เกี่ยวกับเรื่องให้ยืมมงกุฎพระประธานวัดนางนอง ไปสวมบนยอดนภศูลพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "ความทรงจำ" ตอนหนึ่งว่า "จะเป็นด้วยพระราชดำริอย่างไร จึงทำเช่นนั้นหาได้ตรัสให้ใครทราบไม่ และการที่เอามงกุฎขึ้นต่อบนยอดนภศูล ก็ไม่เคยมีแบบอย่างที่ไหนมาก่อน" คนในสมัยนั้น จึงพากันสันนิษฐานว่า มีพระราชประสงค์จะให้คนทั้งหลายเห็นเป็นนิมิตว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ จะเป็นยอดของบ้านเมืองต่อไป กาลเวลานับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณปฏิสังขรณ์นานกว่า 200 ปี สิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมทั้งแท่นฐานชุกชี พระพุทธมหาจักรพรรดิได้ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา ทำให้องค์พระประธานเอนไปด้านหลัง จึงได้บูรณะซ่อมแซมเสริมความมั่นคง ตลอดทั้งพระอุโบสถด้วย พระพุทธมหาจักรพรรดิ เดิมไม่มีพระนาม แต่ได้ถวายพระนามในภายหลัง ด้วยพิจารณาว่า พุทธลักษณะแสดงถึงพระพุทธมหาจักรพรรดิทางธรรม |
พระเครื่อง:ร้านอิทธิปาฏิหาริย์
พระใหม่ยอดนิยม พระบูชา-เทวรูปต่างๆ พระเกจิอาจารย์ พระเก่าทั่วไป พระปิดตา ทุกสำนัก เครื่องรางของขลัง หนังสือพระ หนังสือพระเครื่อง หนังสือธรรมะรายการสินค้าทั้งหมด |
|
ค้นหาแบบละเอียด |