ประวัติ หลวงปู่สิงห์ โสภโณ วัดกุญชรวนาราม |
|
|
|
ประวัติ หลวงปู่สิงห์ โสภโณ วัดกุญชรวนาราม
"หลวงปู่สิงห์ โสภโณ" หรือ "พระครูสารกิจประยุต" อดีตเจ้าอาวาสวัดกุญชรวนาราม อ.เมือง จ.มหาสารคาม และเจ้าคณะตำบลท่าสองคอน เป็นพระกัมมัฏฐานที่มีวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบสืบสายธรรมจากหลวงปู่ต้น ปุญญวัณโณ วัดบ้านดงเค็ง อดีตพระเกจิอาจารย์ยุคเก่ามีชื่อเสียงโด่งดังในพื้นที่มหาสารคาม เมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา
อัตโนประวัติหลวงปู่สิงห์ เกิดในสกุล ขานหยู เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2444 ณ บ้านหนองเขื่อนช้าง ต.ท่าสองคอน อ.เมือง จ.มหาสารคาม เป็นบุตรคนโตของพ่อเผิ่งและแม่ทุมมา ขานหยู ครอบครัวมีอาชีพทำไร่ทำนา ฐานะค่อนข้างยากจน
เมื่อครั้งเยาว์วัย ต้องช่วยครอบครัวทำไร่ทำนาเป็นหัวแรงหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว จนอายุย่างเข้า 14 ปี ได้เข้าพิธีบรรพชา ณ วัดท่าสองคอน จนถึงอายุครบบวชในปี 2464 ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ อุโบสถวัดเขื่อนช้าง ต.ท่าสองคอน อ.เมือง จ.มหาสารคาม โดยมีหลวงปู่ต้น ปุญญวัณโณ เจ้าอาวาสวัดบ้านดงเค็ง เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังอุปสมบท ท่านได้อยู่จำพรรษาวัดเขื่อนช้าง 1 พรรษา ก่อนเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนมูลกัจจายน์ ณ วัดป่าน้อย (วัดมณีวนาราม) จ.อุบลราชธานี นาน 3 ปี และได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เรียนพระปริยัติธรรมที่วัดสิตาราม (วัดคอกหมู) แขวงมหานาค เขตป้อมปราบฯ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก ที่สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรฯ
พ.ศ.2481 ท่านเดินทางกลับอีสานบ้านเกิด จำพรรษาอยู่ที่วัดเขื่อนช้าง ต.ท่าสองคอน อ.เมือง จ.มหาสารคาม และเปิดสำนักเรียนพระปริยัติธรรมให้กับพระภิกษุ-สามเณร รวมทั้งเปิดสอนหนังสือให้กับพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ต่อมา ได้ย้ายออกมาอยู่ป่าดอนปู่ตาใกล้หมู่บ้านและสร้างวัดแห่งใหม่ขึ้นชื่อวัดกุญชรวนาราม (ที่ตั้งวัดกุญชรในปัจจุบัน) และท่านได้จำพรรษาพัฒนาวัดแห่งนี้จนเจริญรุ่งเรือง
นอกจากนี้ หลวงปู่สิงห์ ยังให้ความสนใจด้านวิทยาคม ในยุคนั้นชื่อเสียงของหลวงปู่ต้น พระอุปัชฌาย์ของท่าน โด่งดังในเขตมหาสารคามและใกล้เคียง ท่านจึงขอฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิทยาคมกับหลวงปู่ต้น ทำให้ห์มีความรู้ด้านอักขระโบราณอีกแขนงหนึ่ง
อุปนิสัยของหลวงปู่สิงห์ ชมชอบธรรมชาติป่าไม้ หลังเทศกาลออกพรรษาทุกปี ท่านจะออกเดินธุดงควัตรไปตามป่าเขาลำเนาไพรหลายแห่งในภาคอีสาน รวมทั้ง ลาว และเขมร แสวงหาความหลุดพ้นตามรอยพระตถาคต
จากความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและมีวัตรปฏิบัติจำเริญรอยตามหลวงปู่ต้น ทำให้หลวงปู่สิงห์ มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรมและประพรมน้ำพุทธมนต์ที่เข้มขลัง รวมทั้งปรารถนาวัตถุมงคลเหรียญรูปเหมือนรุ่น 1 ปี 2509 จากหลวงปู่กันอย่างล้นหลาม
วัตถุมงคลของหลวงปู่สิงห์ โดดเด่นด้านอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม ถึงแม้อาคมของท่านจะเข้มขลังเพียงใด ท่านก็ไม่เคยโอ้อวด ท่านพร่ำสอนญาติโยมอยู่เสมอว่าอย่าดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท เมื่อมีเกิดแล้วก็มีแก่ เจ็บ ตาย จงอย่ายึดมั่นถือมั่น ขณะยังมีชีวิตขอให้ทุกคนหมั่นประกอบแต่กรรมดีศีล 5 รักษาให้ได้จะทำให้ชีวิตพานพบแต่ความสุข
สำหรับตำแหน่งด้านปกครอง พ.ศ.2482 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลท่าสองคอน เขต 2 และเป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2502 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ชั้นตรีที่พระครูสารกิจประยุต
พ.ศ.2525 รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นโท ในราชทินนามเดิม
ในช่วงบั้นปลายของชีวิต หลวงปู่สิงห์มีอาการอาพาธบ่อยครั้งด้วยโรคชรา แต่ท่านไม่เคยปริปากให้ศิษยานุศิษย์รวมทั้งญาติโยมทราบ เพราะท่านมองเห็นความเป็นไปของสรรพชีวิตนั้นเป็นเรื่องปกติ หลายครั้งที่ญาติโยมจะนำท่านส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแต่ท่านก็ปฏิเสธ
สุดท้าย หลวงปู่สิงห์ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบ ในปี พ.ศ.2526 สิริอายุ 83 พรรษา 63 ทั้งนี้ คณะศิษยานุศิษย์ ได้เก็บสังขารท่านไว้จนถึงวันที่ 11 มีนาคม 2533 ก่อนจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพ
ณ วันนี้ แม้หลวงปู่สิงห์จะละสังขารไปนานเกือบ 30 ปี แต่คุณงามความดีของท่านยังคงปรากฏอยู่ในใจของพุทธศาสนิกชนชาวมหาสารคามตลอดไป
|