ประวัติ หลวงพ่อผอง ธัมมธีโร วัดพรหมยาม |
![]() |
![]() |
![]() |
ประวัติ หลวงพ่อผอง ธัมมธีโร วัดพรหมยาม
หลวงพ่อผอง สิริอายุ 84 พรรษา 64 เป็นเจ้าอาวาสวัดพรหมยาม ต.สามแยก อ.วิเชียร บุรี จ.เพชรบูรณ์ และที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลสระประดู่ อัตโนประวัติหลวงพ่อผอง นามเดิมว่า ผอง อินทรผล เกิดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2467 ที่บ้านหันน้อย ต.หนองมะเขือ อ.พล จ.ขอนแก่น โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายหลอดและนางบุญโฮม อินทรผล ช่วงวัยเยาว์ ศึกษาเล่าเรียนและจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนบำรุงไทย 2 อ.พล ซึ่งในสมัยนั้น ถือว่าผู้จบการศึกษาในระดับนี้ สามารถรับราชการได้อย่างสบาย แต่ด้วยใจที่ใฝ่ในธรรม เมื่ออายุครบ 20 ปี ท่านได้รบเร้าให้บิดามารดา พาไปอุปสมบท ต่อมาเข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดบ้านเรือ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น โดยมีพระครูปฏิพัทธ์ธรรมคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ ภายหลังอุปสมบท ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบ้านเรือ โดยพระครูปฏิพัทธ์ธรรมคุณ ได้เมตตาสอนการวิปัสสนากัมมัฏฐาน และทำสมาธิเจริญจิตตภาวนาให้แก่ท่าน พร้อมกันนี้ ท่านยังได้ศึกษาพระปริยัติธรรมไปด้วย จนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท และสอบได้นักธรรมชั้นเอกในภายหลัง ท่านได้ทราบว่า หลวงพ่ออ้วน หรือพระครูวิชาญพัชรกิจ เจ้าอาวาสวัดสว่างเนตร ต.ดงขุย อ.ชนแดน เป็นพระเกจิที่เรืองวิทยาคม จึงได้เดินทางมาฝากตัวขอเป็นศิษย์ ซึ่งหลวงพ่ออ้วนก็ไม่ขัดข้อง ได้ถ่ายทอดวิทยาคม อีกทั้ง หลวงพ่อผอง ได้รับใช้ตอบแทนคุณ ด้วยการเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมให้แก่พระภิกษุ-สามเณร ในวัดสว่างเนตรและวัดใกล้เคียง ช่วยกิจการด้านพระพุทธศาสนา เป็นเวลา 10 พรรษา ก่อนได้กราบลาไปอยู่จำพรรษากับหลวงพ่อทบ ที่วัดพระพุทธบาทเขาน้อย อ.ชนแดน เพื่อศึกษาพุทธาคมและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งหลวงพ่อทบยินดีถ่ายทอดสรรพวิชาให้ หลวงพ่อทบ เน้นย้ำว่า "การจะปลุกเสกพระเครื่องและเครื่องรางของขลังให้ศักดิ์สิทธิ์นั้น ใจจะต้องนิ่งสงบ ปราศจากกิเลส จิตจะต้องแข็งได้ฌาน จะปลุกเสกอะไรสิ่งนั้นก็จะดีไปทั้งหมด" หลวงพ่อผอง ได้รับใช้อุปัฏฐากหลวงพ่อทบ คอยช่วยเหลือกิจการคณะสงฆ์ โดยหลวงพ่อทบได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอชนแดน ส่วนตัวท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม จนได้รับแต่งตั้งจากหลวงพ่อทบให้เป็นพระใบฎีกา และเป็นพระคู่สวด ขณะที่หลวงพ่อทบ ถูกนิมนต์ให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ในเขตพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ เวลาผ่านไป 10 ปี หลวงพ่อผอง ได้กราบลาหลวงพ่อทบ เพื่อออกท่องธุดงควัตรไปตามสถานที่ต่างๆ จนมาถึงบ้านพรหมยาม ต.สามแยก อ.วิเชียรบุรี ซึ่งขณะนั้นเป็นพื้นที่ป่า เต็มไปด้วยสัตว์นานาชนิด พ.ศ.2506 หลวงพ่อผอง ได้ร่วมกับชาวบ้าน สร้างวัดพรหมยาม จัดสร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญ เสนาสนะต่างๆ แม้จะมีกุฏิที่ญาติโยมร่วมกันสร้างให้ แต่หลวงพ่อผองยังคงอาศัยอยู่ในกุฏิไม้หลังเล็กที่ไม่มีสิ่งของอำนวยความสะดวกอย่างอื่น แม้แต่มุ้งก็ไม่มี แต่ปรากฏว่าไม่มียุงหรือแมลงไปตอมหรือกัดหลวงพ่อผองแต่อย่างใด เมื่อปี พ.ศ.2531 หลวงพ่อผอง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลสามแยก และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูธีรพัชโรภาส วัดพรหมยาม ได้รับการยกฐานะเป็นวัด เมื่อปี พ.ศ.2514 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ปี พ.ศ.2520 ปัจจุบัน วัดพรหมยาม มีพระภิกษุ-สามเณร จำพรรษาปีละกว่า 20 รูป เสนาสนะภายในวัด ประกอบด้วย อุโบสถ กุฏิที่พักสงฆ์ จำนวน 12 หลัง ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ 1 หลัง ศาลาธรรมสังเวช 2 หลัง ศาลาโรงครัว หอระฆัง ห้องสมุด หอสวดมนต์ อย่างละ 1 หลัง วัตถุมงคลหลวงพ่อผอง ที่คณะศิษย์ได้จัดสร้างขึ้นในวาระต่างๆ ได้รับความนิยมสูง ไม่ว่าจะเป็นพระมหาว่านพิมพ์สมเด็จ เหรียญรุ่นแรกปี 2531 และ 2536 รูปหล่อลอยองค์ รุ่นแรก ปี 2536 ซึ่งผู้ที่มีไว้ในครอบครอง ล้วนแต่มีประสบการณ์อัศจรรย์ แคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตราย กล่าวได้ว่า หลวงพ่อผอง เป็นพระเกจิสายหลวงพ่อทบ ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน และหลวงปู่ขุ้ย วัดซับตะเคียน อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ เท่านั้น ส่วนรูปอื่นมรณภาพไปหมดแล้ว |
พระเครื่อง:ร้านอิทธิปาฏิหาริย์
พระใหม่ยอดนิยม พระบูชา-เทวรูปต่างๆ พระเกจิอาจารย์ พระเก่าทั่วไป พระปิดตา ทุกสำนัก เครื่องรางของขลัง หนังสือพระ หนังสือพระเครื่อง หนังสือธรรมะรายการสินค้าทั้งหมด |
|
ค้นหาแบบละเอียด |