พระชัย หรือ พระชัยวัฒน์ ประจำรัชกาลที่ 9 |
|
|
|
พระชัย หรือ พระชัยวัฒน์ ประจำรัชกาลที่ 9
พระชัย หรือ พระชัยวัฒน์ ประจำรัชกาล นับเป็นพระคู่บุญญาธิการแห่งองค์พระมหากษัตริยาธิราชมาตั้งแต่อดีตกาล ด้วยมงคลนามแห่ง "ชัย" หรือ "ชินะ" อันหมายถึง การมีชัยชนะเหนือข้าศึกศัตรู องค์พระยังมักสร้างเป็นปางมารวิชัยอันเป็นปางปราบมาร รวมทั้งคำว่า "วัฒน์" ยังหมายถึงความยั่งยืนและสืบเนื่องไม่หยุดยั้ง ดังนั้น คำว่า พระชัยวัฒน์ จึงเป็นความหมายที่เป็นสิริมงคลยิ่งอันสื่อถึงการชนะที่ไม่รู้จักการพ่ายแพ้ ตลอดไป
คติการสร้างพระชัยประจำองค์กษัตรย์ ปรากฏหลักฐานเมื่อครั้งสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยผู้เป็นต้นตำรับการสร้างได้แก่สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ซึ่งเป็นเจ้าคณะฝ่ายอรัญวาสี เชี่ยวชาญในวิปัสนาธุระและพิธีกรรมเป็นที่ยิ่ง ในระยะแรก "พระชัย" คงจะสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์แห่งการอวยชัยให้พระในการได้รับชัยชนะจากข้า ศึกศัตรู ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดฯ ให้สร้างพระชัยขนาดย่อมพอที่จะประทับประดิษฐานบนหลังช้าง
เพื่ออัญเชิญไปเป็น มิ่งขวัญยามออกศึกหรือทำพิธีตัดไม้ข่มนามก่อนออกศึกจึงเรียกกันว่า "พระชัยหลังช้าง" ต่อมาจึงได้โปรดฯ ให้สร้างพระชัยในลักษณาการพระพุทธรูปขนาดเขื่องขึ้นเพื่อประดิษฐานเป็นมิ่ง ขวัญในเขตพระบรมมหาราชวังคู่กันกับพระชัยหลังช้าง และโปรดฯ ให้เรียกว่า พระชัยประจำรัชกาล จนกลายเป็นราชประเพณีสืบต่อกันมา แม้ภายหลังจะไม่ต้องอัญเชิญประดิษฐานบนหลังช้างทรงแล้ว ก็ยังคงมีการสร้างพระชัยเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลเรื่อยมา
ในคราวที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนม์พรรษาครบ 3 รอบในปีพุทธศักราช 2506 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สืบทอดพระราชพิธีโบราณโดยการสร้างพระชัยประจำรัชกาลขึ้น โดยมีนายพิมาน มูลประมุขเป็นประติมากรปั้นหุ่น โดยทรงบรรจุดวงพระชะตาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในองค์พระชัย และทรงประกอบพิธีสมโภชในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2506 ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นับเป็นการจัดสร้างพระชัยประจำรัชกาลตรงตามตำรับและพิธีที่มีมาแต่โบราณ สำหรับองค์พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าโดยเฉพาะ
พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ประดิษฐานภายในหอพระสุราลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง ขนาดหน้าตักกว้าง 17.50 ซม. เฉพาะองค์พระสูง 22.50 ซม. สูงจากฐานถึงยอดฉัตร 58.10 ซม. สร้างด้วยทองคำ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 9
พุทธลักษณะ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแบบวัชราสนะ คือ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ซ้ายวางเหนือพระเพลา ทรงตาลปัตร และพระหัตถ์ขวาชี้ลงพระธรณ๊ในลักษณาการมารวิชัย นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ตรงตามคัมภีร์มหาปุริษลักขณะ พระพักตร์เป็นรูปไข่ผ่าซีกละม้ายศิลปะสุโขทัยที่เรียกว่า "หน้านาง" พระนลาฎกว้าง พระขนงโก่ง พระเนตรมองลงยังเบื้องล่าง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว และพระกรรณยาวเกือบจรดพระอังสะ
พระเศียรประกอบด้วยเม็ดพระศกเป็นตุ่มขนาดเล็ก เกตุมาลาและรัศมีรูปเปลวเพลิง องค์พระพุทธรูปครองอุตราสงค์เรียบห่มเฉียงมีชายอุตราสงค์พาดบนพระอังสะซ้าย ห้อยยาวลงมาจรดพระนาภี ปลายเป็นลายเขี้ยวตะขาบ อันเป็นพุทธเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัย ที่สื่อถึงความสุขความเจริญ อันตรวาสกที่ทรงเรียบไม่มีริ้ว
โดยปรากฎขอบที่ข้อพระบาททั้งสองข้าง ตาลปัตรที่ทรงถือมีลักษณะเรียวแหลมคล้ายรูปใบโพธิ์หล่อด้วยเงินจำหลักลาย พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานปัทม์ประกอบด้วยกลีบบัวหงายซ้อนกันสามชั้น ชั้นล่างเป็นฐานขาสิงห์อันสื่อถึงฐานของเขาพระสุเมรุตามคติความเชื่อแบบ ไตรภูมิ และฐานเขียงจำหลักคำจารึก เบื้องหน้าฐานมีผ้าทิพย์ขนาดใหญ่จำหลักลายลงยาสี ห้อยปกคลุมฐานปัทม์และฐานขาสิงห์ เหนือองค์พระพุทธรูปกางกั้นด้วยฉัตรทองคำฉลุลาย 5 ชั้น อันนับเป็นพุทธลักษณะที่งดงามเป็นที่ยิ่ง
โดยปกติ พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ 9 นี้ จะนำออกประดิษฐานในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลและวันเฉลิมพระชนมพรรษา นับเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญในรัชกาลปัจจุบันที่ช่วยอภิบาลพิทักษ์รักษาตลอด จนประสิทธิประสาทพรให้กับองค์พระมหากษัตริย์และพสกนิกรของพระองค์ตลอดมา
คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง :โดย ราม วัชรประดิษฐ์
แหล่งข่าวจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด
|