อุปาทาน 4
กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกาม
ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นด้วยทิฏฐิ
สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นด้วยศีลวัตร
อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นวาทะว่าตน
อุปาทาน เป็นชื่อของกิเลสกลุ่มหนึ่ง ที่แสดงออกมาในลักษณะที่ยึดมั่น ถือมั่น ด้วยอำนาจของกิเลสนั้น ๆ โดยความหมายทั่วไป อุปาทานก็คือ ความยึดมั่นถือมั่น ท่านแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ
1.กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกาม คือการที่จิตเข้าไปยึดถือในวัตถุกามทั้ง5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันตนกำหนดว่าน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ความยึดถือของจิตนั้นมีความรู้สึกว่า "นั่นเป็นของเรา" เช่นเห็นรูปสวยงามเข้า ก็อยากได้มาเป็นของตนด้วย อำนาจตัณหา เมื่อได้มาไว้ในครอบครองแล้ว จะยึดมั่นถือมั่นว่า รูปนั่นของเรา ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะยึดถือรูปเป็นต้น อย่างอื่นในทำนองเดียวกัน ความทุกข์ในชีวิตจะเกิดขึ้น เพราะการแสวงหา การครอบครอง การเปลี่ยนแปลง หรือพลัดพรากไปของวัตถุกามเหล่านั้น
2.ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด เช่นยึดถือในลัทธิธรรมเนียม ความเชื่อถือต่าง ๆ ขาดการใช้ปัญญา พิจารณาหาเหตุผล เช่น ถือว่าการกระทำดี ชั่วไม่มี ความสุขความทุกข์ในชีวิตของคนไม่ได้เกิดมาจากเหตุอะไรทั้งสิ้น ไม่มีบุญบาป บิดา มารดา พระอริยบุคคลเป็นต้น ความยึดถือบางอย่างนอกจากจะละได้อยากแล้ว ยังนำไปสู่การถกเถียง การแตกแยกกัน จนต้องประสบทุกข์ในอบายเพราะทิฏฐุปาทานบางอย่าง
3.สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในศีลวัตร และข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่ตนประพฤติมาจนชินด้วยความเข้าใจว่าขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ถูกต้องเป็นต้น โดยทั่วไปเช่นการยึดติดในธรรมเนียมบางอย่าง พิธีกรรมบางประเภท ถือฤกษ์ผานาที ทิศดีทิศไม่ดี วันดีวันร้าย จนถึงการถือวัตรปฏิบัติที่งมงายต่าง ๆ เช่น การทำตนเลียนแบบสุนัขบ้าง โคบ้าง โดยเข้าใจว่าจากการทำเช่นนั้นทำให้ตนได้ประสบบุญ เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า จนถึงละสิ้นทุกข์เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นต้น
4.อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นวาทะว่าตน โดยความหมายทั่วไป หมายถึงยึดถือในทำนองแบ่งเป็นเรา เป็นเขา เป็นพวกเราพวกเขา จนถึงการยึดถือว่ามีตัวตนที่เที่ยงแท้อยู่ ตนนั่นเองเป็นผู้มี ผู้รับ ผู้ไปในภพต่าง ๆ เสวยผลบุญบาปต่าง ๆ ที่ตนทำไว้ โดยขาดการมองตามความเป็นจริงว่าสรรพสิ่งทั้งหลายนั้น ล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะการประชุมพร้อมแห่งปัจจัยทั้งหลายเท่านั้น
อุปาทานทั้ง 4 ประการนี้ ที่ทรงแสดงไว้ในปฏิจสมุปบาทนั้น อุปาทานอยู่ในฐานะเป็นปัจจุบันเหตุ ร่วมกับตัณหา และด้วยอำนาจแห่งอุปาทานนี้เอง ที่ทำให้ได้ประสบความทุกข์ต่าง ๆ ไม่ต้องกล่าวถึงในช่วงยาวอย่างสังสารวัฏ แม้ในชีวิตประจำวันนี้เองจะพบว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้น โดยสรุปแล้วเกิดจาก " การที่จิตคนไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 ว่าของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา " กล่าวโดยสรุป ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 เป็นทุกข์
|