เหวัชระมณฑล เทพผู้พิทักษ์พุทธศาสนามหายาน |
![]() |
![]() |
![]() |
เหวัชระมณฑล เทพผู้พิทักษ์พุทธศาสนามหายาน
เหวัชระจัดอยู่ในกลุ่มยิดัมหรือเทพผู้พิทักษ์พุทธศาสนามหายาน ซึ่งปรากฏขึ้นในสมัยพุทธตันตระ มีหน้าที่ในการปราบภูตผีปิศาจสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ไม่ให้ทำอันตรายมนุษย์ พระสงฆ์ในนิกายมหายานตันตระทุกรูปจะต้องมียิดัมประจำตัวสำหรับบูชาโดยเฉพาะ ยิดัมมีอยู่ด้วยกันหลายตน เช่น เหวัชระ คุหยสมาช มหามายา สังวร กาลจักร ชัมภล ซึ่งแต่ละตนมีลักษณะดุร้ายน่ากลัว เหวัชระถือเป็นยิดัมหรือเทพผู้พิทักษ์ตนหนึ่งที่ได้รับการนับถืออย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้นิยมพุทธตันตระ ดังปรากฏรูปเคารพจำนวนมากทั้งในรูปเดี่ยวและร่วมกับศักติหรือบุคคลอื่น ลักษณะทางประติมานวิทยาของเหวัชระที่สังเกตได้คือ วรรณะ (ผิวกาย) สีฟ้า สวมเครื่องทรงแบบพระโพธิสัตว์หรือธรรมบาล (ธรรมบาลมีตำแหน่งเทียบเท่าพระโพธิสัตว์ มีอยู่ด้วยกัน ๘ องค์ มีหน้าที่ทำสงครามปราบปรามปีศาจและยักษ์มารต่างๆ ซึ่งเป็นศัตรูของพุทธศาสนา) มักปรากฏกายในรูปตันตระ คือ มี ๘ เศียร ๑๖ กร ๔ บาท เศียรทั้ง ๘ จัดเรียงกันโดยมีเศียร ๓ เศียรอยู่ด้านข้างทั้งสองของเศียรกลาง และเศียรที่ ๘ อยู่บนเศียรกลาง แต่ละเศียรจะมีสามเนตร กรทั้ง ๑๖ กรถือหัวกะโหลก โดยแปดถ้วยข้างขวาบรรจุสัตว์โลกต่างๆ มีช้าง ม้า ลา โค อูฐ มนุษย์ กวาง และแมว ส่วนถ้วยด้านซ้ายบรรจุเทพประจำแผ่นดิน น้ำ ลม ไฟ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระพรหม และท้าวไวศรวรรณ (ท้าวชัมภลหรือกุเวร) พระบาททั้ง ๔ นั้น สองบาทหน้าเหยียบร่างมนุษย์ (หรือซากศพ) ไว้ ส่วนอีกสองบาทหลัง เต้นรำท่าอรรธปรยังก์ โดยงอพระชงฆ์ซ้ายและพับพระชงฆ์ขวาขึ้นไว้ใต้พระเพลาซ้าย ในศิลปะทิเบตมักปรากฏร่วมในท่ากอดรัด (ยัม – ยัม) กับศักติ (Nairatmya) ซึ่งมีเศียรเดียวสองกร กรหนึ่งถือดาบ (grigug) ส่วนอีกกรหนึ่งโอบกอดอยู่กับเหวัชระ ส่วนศิลปะเขมรมักปรากฏในรูปเดี่ยว พักตร์ทั้ง ๘ มีทั้งที่แสดงสีพระพักตร์โกรธเกรี้ยวและสงบอ่อนโยน บ้างมีเนตรที่สาม บ้างก็ไม่มี ทรงเครื่องทรง ได้แก่ กุณฑล กรองศอ พาหุรัด ทองกร และทองบาท กรทั้ง ๑๖ ข้างถือสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ แต่ส่วนใหญ่มักมีลักษณะไม่ชัดเจนหรือหลุดหายไป มักมีสองบาท ซึ่งบางครั้งอาจมีการเซาะเป็นร่องเพื่อแสดงให้เห็นเป็นคู่พระบาทซ้ายทั้งสองเหยียบอยู่บนซากศพ พร้อมกับเต้นรำในท่าอรรธปรยังก์ นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่บนสิ่งของที่ใช้ในกิจพิธีทางศาสนา เช่น บนสังข์สำริดสำหรับรดน้ำมนตร์ หรือเป็นบุคคลสำคัญอันดับแรก หรืออันดับรองบนพระพิมพ์ในพุทธศาสนาลัทธิตันตระ เหวัชระมีเทพสตรีหรือที่เรียกว่านางโยคินีแปดตนเป็นบริวาร นางโยคินีเหล่านี้มีหน้าที่ทำลายล้างอวิชชาหรือสิ่งชั่วร้ายและรักษาทิศทั้งแปดของจักรวาล ถือกำเนิดขึ้นจากญาณของเหวัชระเรียงกันตามลำดับทิศหลักและทิศรอง โดยเริ่มจาก Gauri กำเนิดขึ้นเป็นตนแรกทางทิศตะวันออก มีผิวกายสีดำ สัญลักษณ์ประจำตัวคือ มีดและปลา ซึ่งถืออยู่ในกรขวาและซ้ายตามลำดับ นางโยคินีทั้งหมดดังกล่าวล้วนมีสองกร สามเนตร มักอยู่ในท่าเต้นรำ (อรรธปรยังก์) เหนือซากศพ ที่ประทับของนางโยคินีเหล่านี้คือ เทพเจ้าในศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอวิชชา ได้แก่ พระพรหม พระอินทร์ พระวิษณุ พระศิวะ พระยม ท้าวกุเวร พระนิรฤติ และ Vemacitrin ในลักษณะที่เป็นรูปเคารพมักแสดงสัญลักษณ์ของเหวัชระมณฑลวงกลมสองวง วงกลมที่อยู่ภายในแสดงภาพเหวัชระ กำลังเต้นรำอยู่เหนือซากศพในท่าอรรธปรยังก์ มีนางโยคินีทั้งแปดแวดล้อมประจำทิศอยู่ภายในกรอบวงกลมด้านนอก หรืออาจแสดงอยู่ในรูปของกุฎาคาร (Kutagara) หรือปราสาท (Prasada) ในศิลปะเขมร โดยมีรูปวงกลม (มณฑล) ของเหวัชระและนางโยคินีทั้งแปดอยู่ตรงกลางภายในส่วนที่เรียกว่า ครรภธาตุหรือครรภคฤหะ ส่วนบนเหนือครรภธาตุแสดงส่วนประกอบคล้ายชั้นของหลังคาปราสาทซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้น ชั้นบนสุดมีพระพุทธรูปนาคปรกอยู่ตรงกลาง มีรูปบุคคลนั่งอยู่ในระดับต่ำเยื้องลงมาเล็กน้อยทั้งสองด้าน ถัดลงมาเป็นชั้นของรูปบุคคล (พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์) ประทับนั่งอยู่ในซุ้มจำนวนแถวละ ๓, ๕ และ ๗ องค์ ตามลำดับ ด้านล่างสุดหรือชั้นฐานของปราสาททำเป็นรูปบุคคล (พระโพธิสัตว์) ในท่ายืนภายในซุ้มจำนวนห้าองค์ พระพุทธรูปนาคปรกที่ประดิษฐานอยู่บนยอดสุดของพระพิมพ์ดังกล่าว คงมีความหมายถึงพระอาทิพุทธเจ้าตามคติทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกายวัชรยานหรือพุทธตันตระ ส่วนรูปบุคคลที่อยู่ถัดลงมาจากพระพุทธรูปนาคปรกรวมทั้งที่ฐาน โดยเฉพาะในชั้นหรือแถวซึ่งมีจำนวนรวมกันห้าองค์ ก็น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับพระธยานิพุทธทั้งห้า (ไวโรจนะ อักโษภยะ รัตนสัมภวะ อมิตาภะ มุทรา และะอโมฆสิทธิ) รวมทั้งผู้ที่เกิดในสกุลของพระองค์ เช่น พระธยานิศักติ (วัชรธาตุวิศวรี โลจนา มามกิ ปาณฑรา และตารา) และธยานิโพธิสัตว์ (พระสมันตรภัทร พระวัชรปาณิ พระรัตนปาณิ พระอวโลกิเตศวร และพระวิศวปาณี) เป็นต้น อย่างไรก็ดี สำหรับในพระพิมพ์เราไม่สามารถที่จะกำหนดชี้ชัดลงไปในแต่ละบุคคลได้ เนื่องจากมีรายละเอียดของรูปภาพไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะจำแนกเพศ มุทรา หรือสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์ประจำของแต่ละองค์ สำหรับภาพพระพุทธรูปที่อยู่ภายในซุ้มหลังคาปราสาทชั้นล่างสุดนั้น นาย J.J. Boels สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงพระธยานิพุทธอมิตาภะ เนื่องจากแสดงธยานมุทรา (ปางสมาธิ) อันเป็นสัญลักษณ์ (มุทรา) ประจำพระองค์ อย่างไรก็ดี พระพุทธรูปดังกล่าวอาจหมายถึงพระอดีตพุทธจำนวนเจ็ดพระองค์สุดท้ายที่เรียกว่า สัปตมานุษิพุทธเจ้า ซึ่งประกอบด้วยวิปัสสี (จากสารกัป) สิขี และเวสสภู (จากมัณฑกัป) กกุสันธะ โกนาคม กัสสปะ และโคตมะ (จากภัทรกัป) โดยเฉพาะเมื่อประทับอยู่เรียงกันเจ็ดองค์ ตามที่ปรากฏอยู่ในองค์พระพิมพ์ เอกสารอ้างอิง |
พระเครื่อง:ร้านอิทธิปาฏิหาริย์
พระใหม่ยอดนิยม พระบูชา-เทวรูปต่างๆ พระเกจิอาจารย์ พระเก่าทั่วไป พระปิดตา ทุกสำนัก เครื่องรางของขลัง หนังสือพระ หนังสือพระเครื่อง หนังสือธรรมะรายการสินค้าทั้งหมด |
|
ค้นหาแบบละเอียด |